วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประวัติความเป็นมาพระธาตุพนม

พระธาตุพนมบรมเจดีย์ ตอน ประวัติความเป็นมา

พระธาตุพนมหรือเรียกตามแผ่นทองจารึกซึ่งจารึกไว้ในสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กแห่งนครเวียงจันทน์มาบูรณะใน พ.ศ. ๒๒๓๖ - ๔๕ ว่า "ธาตุปะนม" เป็นพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ ( กระดูกส่วนพระอุระ ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับตกแต่งด้วยศิลปลวดลายอันวิจิตรประณีตทั้งองค์ มีความหมายทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง สูงจากระดับพื้นดิน ๕๓ เมตร ฉัตรทองคำสูง ๔ เมตร รวมเป็น ๕๗ เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากแม่น้ำโขงอันเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างประเทศลาวกับประเทศไทยประมาณ ๕๐๐ เมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร
ในตำนานพระธาตุพนมกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกในราว พ.ศ. ๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตบูรกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ โดยท้าวพญาทั้ง ๕ อันมีพญาศรีโคตบูร เป็นต้น และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประมุข

ลักษณะการก่อสร้างในสมัยแรกนั้น ใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม แล้วเผาให้สุกทีหลัง กว้างด้านละสองวาของพระมหากัสสปะ สูงสองวา ข้างในเป็นโพรง มีประตูเปิดทั้งสี่ด้าน เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า


บัญญากาศในงานมัสการพระธาตุพนม

ในกรณีของพระธาตุพนมก็เหมือนกับปูชนีสถานในประเทศอื่น ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา คือ ได้ดัดแปลงรูปแบบแห่งการเคารพบูชาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในจำนวน ๔ แห่ง ซึ่งได้แก่สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในความหมายว่า พระบรมสารีกขธาตุและส่วนที่เหลืออื่น ๆ ของพระพุทธเจ้า เป็นสื่อแทนพระองค์ในความรู้สึกของผู้มีศรัทธา ดังนั้น พระสถูปเจดีย์ซึ่งเป็นที่บรรจุบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พร้อมส่วนที่เหลืออื่น ๆ จึงถือเป็นจุดรวมแห่งการแสวงบุญอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธ




นับตั้งแต่ที่เชื่อถือกันว่าพระธาตุพนมเป็นสถานที่อันควรแก่การแสวงบุญอันศักดิ์สิทธิ์ ของชาวพุทธแล้ว บรรดาชาวพุทธผู้มีจิตศรัทธาจากทุกสารทิศทั่วประเทศทั้งไทยและลาว ต่างก็ได้หลั่งไหลมาแสวงบุญเป็นจำนวนมากตลอดปี โดยพากันประกอบพิธีทางศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเทศกาลประจำปีตลอดทั้ง ๗ วัน ๗ คืน ซึ่งมีขึ้นในระหว่างปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ หรือเริ่มจากวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ มีบรรดาชาวพุทธที่มีศรัทธาจำนวนมากชุมนุมกันนมัสการพระธาตุ และบำเพ็ญกุศลอื่น ๆ ซึ่งมีขึ้นภายในบริเวณพระธาตุ เช่น กราบพระธาตุ บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน ปิดทองเปลว และกล่าวคำนมัสการ เป็นต้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บอก WEB นี้ให้เพื่อน :